วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สัมชชาคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 20 พ.ย.52 ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจังหวัดระยอง ได้จัดเวทีสมัชชา คุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจังหวัดระยอง ขึ้น มีผู้เข้าร่วมประชุม แกนนำจาก 8 อำเภอ 240 ท่าน ตัวแทนนักเรียน 40 ท่าน ผู้สื่อข่าว 10 ท่านและจากหน่วยงานรัฐอีก 10 ท่าน รวมทั้งสิ้น 300 ท่าน เวทีในครั้งนี้ ท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง(นายปิยะ ปิตุเตชะ) มาเป็นประธานเปิดงาน และกล่าวถึงสิทธิให้กับพลเมืองระยองอย่างชัดเจนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ชาวระยองไม่เสียสิทธิของตน พร้อมให้ชาวระยองเรียกร้องสิทธิของตนเองมากขึ้้น เมื่อมีสิทธิตามกฎหมายก็ต้องใช้หน้าที่ให้ได้ด้วย ร้องเรียน 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1000 ครั้ง ช่วงเช้ามีปาฐกฐาพิเศษ โดย นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท)มาให้ความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องบทบาทสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม(สบท)กับผู้บริโภค หลายคนในที่ประชุม บ่นมาว่า เวลาน้อยเกินไป ได้รับความรู้มากๆเลย ช่วงบ่ายท่านอัยการธรรมรัตน์ ลิ่มกุลพงษ์ รองอัยการจังหวัดระยอง ได้มาพูดหัวข้อ บทบาทอัยการกับผู้บริโภค เวทีที่สนุกและดีมาก ท่านอัยการมาพูดการคุ้มครองสิทธิให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างดี หลายคนได้รับรู้มากขึ้น ในการขอรับความช่วยเหลือจากทางอัยการ ช่วงบ่ายที่ 2 คบท.จินดา เจริญสุข และกลไกภาค มาตอบข้อซักถามให้กับประชาชนที่มาร่วมเวที ชัดเจน เข้าใจ ปี 53 อยากให้มีอีก เฮอ! ได้ยินแล้วหายเหนื่อยไปเลย ต้องรอสบท.และกทช.ก่อนนะครับ

ประเมินภายนอกโดยนักวิชาการอิสระ

วันที่ 18 พ.ย.52 อาจารย์ ทวีรักษ์ คงทองเย้า นักวิชาการอิสระ ได้มาประเมินงานศูนย์คุ้มครองสิทธิฯจังหวัดระยอง ทางแกนนำมาร่วมกันทั้ง 8 อำเภอ การประเมินงานในครั้งนี้ ได้รับความรู้ ความเข้าใจต่อการทำงานมากขึ้น แกนนำพื้นที่ ยังได้รูปแบบการประเมิน ที่สำคัญยิ่ง ไปปรับใช้ในพื้นที่อีกด้วย..

ทีมประเมินภายใน(มูลนิธิ) ลงพื้นที่ระยอง

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.52 ทีมประเมิน นำโดยคุณ สารี อ๋องสมหวัง คุณบุญยืน ศิริธรรม คุณ กชนุช แสงแถลง และทีมงานสื่อ รวมถึงเจ้าหน้าที่ สบท. มาตรวจงานในพื้นที่ และมาให้ความรู้กับประชาชนทั้ง 8 อำเภอ ยังความดีใจให้กับคนในพื้นที่จังหวัดระยองเป็นอย่างมาก การประเมินในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งมากขึ้น ความเข้าใจและความมั่นใจของแกนนำในระดับอำเภอ ยิ่งมีพลังมากขึ้นตามมาด้วย มาร่วมประเมินและมาร่วมกันพัฒนา จะนำไปสู่การแก้ไขที่ดีของสังคมต่อไป

สปสช.กับงานคุ้มครองสิทธิ

มื่อวันที่ 12 พ.ย.52 แกนนำคุ้มครองสิทธิเพื่อผู้บริโภค 40 ท่าน ได้ประชุมเกี่ยวกับงาน สปสช. โดยมี ผอ.กรรชิต คุณาวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เขต 6 ระยอง ได้มาให้ความชัดเจน ในการดำเนินงานการจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ในระดับพื้นที่ตำบล มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. มีสถานที่ตั้งชัดเจน 2. มีการประชุมและบันทึกของคณะกรรมการ 3.มีการตั้งผู้ประสานงาน จัดทำเอกสาร ส่งมาที่ ผู้ประสานงานภาคประชาชนจังหวัดระยอง (คุณสุภรัฐ ขวัญเมือง) เพื่อรวบรวมส่งมาที่ เขต 6เพื่อให้ ผอ.แต่งตั้ง พร้อมกันจะไปสอดคล้องในการมีตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนระดับตำบลเข้าไปร่วมเป็นคระกรรมการกองทุนสุขภาพตำบลต่อไป งานคุ้มครองสิทธิเพื่อผู้บริโภค จะทำควบคู่กันไปได้เลย

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

16 เวทีให้ความรู้ความเข้าใจอำเภอสุดท้าย

วันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคฯจังหวัดระยอง ได้จัดเวทีให้ความรู้ ความเข้าใจเป็นอำเภอสุดท้าย อำเภอเมือง ในส่วนของภาคประชาชน นับว่าได้ดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ครบทั้ง 8 อำเภอ มีแกนนำครบ ทั้ง 72 ท่าน ครั้งนี้มีคนเข้าร่วม 114 ท่าน รวมแล้วที่ผ่านมาทั้ง 8 อำเภอ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,750คน เกินตัวชี้วัดที่วางไว้ คงเหลือเวทีแกนนำในวันที่ 17 พ.ย. ที่ ห้องประชุม กศน. จังหวัดระยอง พบทีมประเมินภายใน และเวทีสมัชชา ในวันที่ 20 พ.ย.52 เป็นอันเสร็จภารกิจในปี 52 นปี 53 คาดการณ์ว่า เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิฯระดับอำเภอจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการเชื่อมโยงกับผู้คนในระดับพื้นที่ตำบลและหมู่บ้านมากขึ้นแต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า สบท.และกทช. จะมีความจริงใจและจริงจังต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายให้มากขึ้นหรือไม่ ต้องรอดูและติดตามกัน....

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การดำเนินงานในเดือนพฤศจิกายน 52 ของศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคฯจังหวัดระยอง

การขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานในส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภค 
เวทีสมัชชาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมวันที่ 20 พ.ย.52 ณ ห้องสร้อยสุวรรณ โรงแรมสตาร์โฮเต็ล เวลา08.30-16.00 น. จำนวน 300 ท่าน

เวทีแกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค 8 อำเภอ  วันที่ 17 พ.ย.52  ณ ห้องประชุม อบจ. 

เวลา 09.00-14.00น. จำนวน 72 ท่าน

เวทีเครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 8 อำเภอ วันที่ 12 พ.ย.52 ณ ห้องประชุมสปสช.เขต6 ระยอง เวลา 10.00-14.00น.จำนวน 40 ท่าน

เวทีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม อำเภอเมือง ประมาณวันที่ 10 พ.ย.52 ณ เทศบาลนครระยอง เวลา 09.00-14.00น. จำนวน 100 ท่าน
สรุปผลร่วมกับกลไกภาคประมาณวันที่ 27-28 พ.ย.52
ตรวจกิจกรรมการขับเคลื่อนที่ผ่านมาทั้งหมดช่วงต้นเดือนธันวาคม วันที่ 1-5 ธ.ค.52 (สุภรัฐ)

สรุปการดำเนินงานทั้งหมดในไตรมาส 4 ในวันที่ 10 ธ.ค.52 
ส่งรายงานประมาณวันที่  25 ธ.ค. 52 และสรุปการตรวจสอบบัญชีให้แล้วเสร็จประมาณวันที่ 25 ธ.ค.52
ส่งให้กลไกภาคเพื่อตรวจสอบและดำเนินการส่งให้สบท.ให้ทันก่อนสิ้นปีงบประมาณ

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สปสช.เขต6 ระยอง ประกาศรับฟังความเห็นระบบสุขภาพ



วันที่ 28 ตุลาคม 2552 ณ ห้องศรีสุวรรณ โรงแรมสตาร์โฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปในระบบสุขภาพ ให้แกนนำจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมแสดงความเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขในระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น หลังจากนั้น จะนำข้อมูลการสร้างระบบสุขภาพมาพูดในสถานีวิทยุชุมชนต่างๆเพื่อให้ประชาชนทั่วไปของจังหวัดที่รับฟังสถานีวิทยุชุมชนนั้นๆสามารถโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น GOOD IDEA ..ท่านที่สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นสามารถโทรศัพท์เข้ามาได้ที่ 084-7512753,084-7512763,084-7512765 ได้ในเวลา 09.00-15.00น. ความคิดเห็นของทุกท่านจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป
รายงานจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนจังหวัดระยอง ฮิ

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

3G นโยบายที่ผู้บริโภคต้องรู้ ข้อมูลลับ...

องค์กรผู้บริโภค เรียกร้องหยุดอ้างผลประโยชน์ผู้บริโภค

เพราะกรอบการประมูลผู้บริโภคยังไม่ได้ผลประโยชน์จริง

ไม่มีหลักประกันเรื่องการเข้าถึงของกลุ่มคนพิเศษ

เป็นเพียงการลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

แนวทางประมูลอาจจะเกิดปัญหาการฮั้วประมูลได้

พร้อมเรียกร้องให้รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านก่อนการตัดสินใจ 3 G

และต้องยึดผลประโยชน์ของผู้บริโภคและรัฐเป็นสำคัญ

สืบเนื่องจากทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่างให้ความเห็น ว่า การประมูลคลื่นโทรคมนาคม รุ่น 3G จะไม่ให้ความสำคัญเรื่องราคาในการประมูล เพราะหากประมูลราคาแพงสุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค

การกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ถ้าจะให้ประโยชน์เกิดกับผู้บริโภค ในการประมูลคลื่นฯ 3G รัฐจะต้องได้รับประโยชน์น้อย แต่ข้อเท็จจริงก็คือระบบการให้บริการในกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยปัจจุบัน มีผู้ให้บริการที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์การโทรศัพท์ (TOT) และการสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) ซึ่งทำให้บริษัทเอกชนที่ให้บริการโทรคมนาคมมีการจ่ายส่วนแบ่งค่าตอบแทนให้รัฐ ผ่าน TOT และ CAT รวมแล้วมากถึงปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท หรือถ้าคิดคำนวณตลอดอายุสัมปทาน จะเป็นเม็ดเงินอย่างน้อยที่สุด 1.8 แสนล้านบาท (ตัวเลขจากการคำนวณของ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์) เมื่อเทียบกับการประมูลคลื่นฯ 3G ที่มีการกำหนดราคาเบื้องต้นเพียง 6,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของระบบสัมปทานจำนวนมหาศาล การจะผลักภาระต่อผู้บริโภคหรือไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญคือการมีระบบการแข่งขันที่เป็นจริงและเป็นธรรม รวมทั้งการมีกติกาการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง มากกว่าที่จะสัมพันธ์โดยตรงกับราคาการประมูล

ข้อที่ต้องพิจารณาที่แท้จริงในการเปิดประมูลกลับอยู่ที่ว่า เงื่อนไขที่กำหนดสำหรับการประมูลในครั้งนี้ก่อให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมเพียงใด ข้อเท็จจริงในขณะนี้ก็คือ ทาง กทช. กำหนดที่จะดำเนินการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นฯ 3G จำนวน 4 ใบ ในขณะที่ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการประมูลเพียง 4 บริษัท ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้จึงไม่เอื้อให้มีการแข่งขันในการประมูลอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกลับจะเปิดช่องให้เกิดการฮั้วประมูลขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้รับผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม

ด้วยเหตุผลหลักดังกล่าว ประกอบกับมิติของผลกระทบด้านต่างๆ ที่จะติดตามมาจากการเปิดประมูลคลื่นฯ 3G ในครั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องดังนี้

1. กทช. ควรขยายกรอบการรับฟังความคิดเห็นที่รวมถึงผลประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับ เช่น หลักประกันเรื่องการเข้าถึงบริการของกลุ่มคนพิเศษ หลักประกันเรื่องราคา เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับการลดต้นทุนในการดำเนินการที่ปรับเปลี่ยนจากระบบการจ่ายสัมปทานมาเป็นการจ่ายค่าประมูลคลื่น 3 G ดังนั้นต้นทุนที่บริษัทได้ลดราคาต้องคืนผลประโยชน์นั้นให้กับผู้บริโภค นอกเหนือจากการรับฟังเรื่องคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล 3จี ผู้ลงทุนจากต่างประเทศ ราคาขั้นต้นของการประมูล รวมทั้งโครงสร้างทางการตลาดที่มีการดำเนินการที่ผ่านมา

2. องค์กรผู้บริโภคเห็นความจำเป็นในการเปิดบริการโทรคมนาคม 3G แต่เนื่องจากความต้องการระบบ 3G ตามที่มีการคาดการณ์นั้นมีเพียงร้อยละ 10 ของประชากรไทยเท่านั้น เมื่อประกอบเข้ากับจำนวนเอกชนที่มีศักยภาพในการเข้าประมูลที่มีอยู่น้อย ดังนั้นในการเปิดประมูลคลื่นฯ 3G ครั้งนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดให้เข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด แทนที่จะเปิดใบอนุญาตถึง 4 ใบ ควรมีการเปิดเพียง 1-2 ใบเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรคลื่นโทรคมนาคม 3G อันเป็นทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์สูงสุด ตลอดจนหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการฮั้วประมูลด้วย

3. ควรสนับสนุนให้เกิดกลไกการติดตามกำกับเนื้อหา(Content) ความเท่าทันเทคโนโลยี และรวมทั้งปัญหาที่เกิดจากระบบ 3 G ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกมส์(Games) การพนัน ( Gambling ) และการล่อลวงเด็กและผู้หญิง(Girl)

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คลื่นความถี่ 3G ประโยชน์ให้ใคร

คลื่นความถี่ 3 G ที่ กทช.จะให้ใบอนุญาต 3 G เพื่อประโยชน์ใคร?
ทำอย่างไรจึงจะให้เกิดบริการ 3G บนพื้นฐานที่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ รัฐและประชาชน
กทช.ตั้งราคาประมูลตั้งตนให้สูงพอ หรือ รัฐให้งบประมาณ กสท.ไม่จำกัดในการประมูล
กทช.ยังไม่ควรประมูลใบอนุญาตทั้ง 4 ใบ พร้อมกัน อาจประมูล 2 ใบ ในปีนี้และประมูลที่เหลือเพิ่มเมื่อตลาดพร้อม (เพื่อให้รัฐมีรายได้มากขึ้น)
กระทรวงการคลังจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับบริการโทรศัพท์ 3Gในรูปแบบไหน อย่างไร?
ควบคุมราคาเพื่อผู้บริโภคอย่างไร?
และที่สำคัญ ที่ 3G เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ในสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไม่เปิดสัมปทานให้ต่างชาติและไม่ประมูลขายคลื่นความถี่ให้บริษัทต่างชาติเด็ดขาด ที่น่าเศร้าที่สุด การวางเฉยของรัฐบาล การวางเฉยของนายกรัฐมนตรี การวางเฉยของกองทัพไทยและการวางเฉยของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในอนาคต ก็ไม่รู้ทุกวันนี้ พวกท่านทั้งหลาย ร้องเพลงชาติให้ใครฟัง อ้างอิง บทความบางส่วน หมายเหตุประเทศไทย ไทยรัฐ วันที่ 12 ต.ค.52 มันน่าเศร้าของคนไทย

OM ของศูนย์จังหวัดที่เข้มข้นในปี 53

เป็นองค์กรที่สามารถปกป้องสิทธิให้กับผู้บริโภคและ สนับสนุนให้ผู้บริโภคสามารถปกป้องพิทักษ์สิทธิของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาอย่าเท่าเทียมเป็นธรรม ส่งเสริมและและสนับสนุนงานด้านวิชาการและระดมทรัพยากรจากท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเครือข่ายผู้บริโภคทั้งในระดับอำเภอ ตำบล อย่างมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพแกนนำอย่างต่อเนื่องรวมทั้งเชื่อมโยงภาคีที่เกี่ยวข้อง มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารครอบคลุมทุกพื้นที่ สร้างและพัฒนาระบบฐานข้อมูลของผู้บริโภค และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายพร้อมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดี
เอ้า! หลายจังหวัด หลายศูนย์ที่ไม่ได้มาร่วมเวที นำไปประกอบการดำเนินงานในปี 53 อย่างเข้มข้นนะครับ เริ่มวางแผนที่ยุทธศาสตร์ตั้งแต่วันนี้ นะครับท่าน พวกเราจะช่วยกันนำพาให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคให้มีความแข็งมากขึ้น จริงใจ จริงจัง อย่าจิ้งโจ้กันนะครับ...

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2552

แกนนำคุ้มครองสิทธิระดับอำเภอเข้าร่วมทบทวนแผนงานปี 52

เมื่อวันที่ 22-24 กันยายน กลไกศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมภาคตะวันออก/กลาง ร่วมกับ กลไกภาคเหนือและสบท.จัดเวทีประชุมทบทวนและติดตามความก้าวหน้าของงานเครือข่ายโทรคมนาคมภาคตะวันออก/กลาง โดยมีอาจารย์กวนอู มาให้ความรู้ความเข้าใจ และทีมประเมินฝ่ายวิชาการอิสระ อาจารย์ศิริพงษ์ พรหมพักษ์ มาร่วมสังเกตการณ์ เป็นเวทีที่ดูเหมือนจะเครียด แต่หารู้ไม่ สนุกสนานและได้รับความรู้มากขึ้น ต้องไปถามแกนนำคุณน้ำอ้อย คุณบรีสและคุณเจี๊ยบแห่งเขาชะเมา......

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ฝึกอบรมการจัดทำWebsiteของศูนย์ฯจังหวัดชลบุรี

ชลบุรี ระยอง ตราด บางพระ หนองปรือ ศรีราชา

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

เวทีแกนนำจาก 8 อำเภอของจังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจังหวัดระยอง ได้จัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน โดยได้ให้แต่ละอำเภอคิดถึงแผนกิจกรรมของแต่ละอำเภอในงบประมาณปี 53 ทั้งนี้ ได้เชิญภาคีหุ้นส่วน(ตัวแทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดระยอง) คุณสุธีรา ผ่องใส /ภาคียุทธศาสตร์ จากสปสช. หัวหน้าศิริศักดิ์ เผือกวัฒนะ /ตัวแทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือที่เราเรียกกันว่า พอช.โดยคุณพิชชานันท์ อ่อนพาย (คุณรุ่ง)และอาจารย์ศิริพงษ์ พรหมรักษ์ นักวิชาการอิสระ มาช่วยสรุปและวิเคราะห์ภาพรวมของจังหวัดระยอง มีการมอบหมายให้แต่ละอำเภอสำรวจข้อมูลเรื่องบัตรเติมเงินจำนวน 3000 ชุดเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาผลกระทบกับผู้บริโภคในระดับอายุที่แตกต่างกัน อีกไม่นานเกินรอ...คงจะมีข้อมูลสรุปออกมาให้ดูกัน...